Menu
[--mobilemenu--]
บราวเซอร์ของท่านไม่สนับสนุนหรือปิดการใช้งาน javascript ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานไซต์บางส่วนเช่นการเข้าลิ้งค์ หรือโพสข้อความได้ตามปกติ, กรุณาเปิดการใช้งาน javascript เพื่อที่จะใช้งานเว็บ gconhubม หากมีปัญหาในการใช้งาน หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ [email protected] หรือ [email protected]
[ไม่ใช่การเมืองไทย] กระทู้ 'การเมือง/ความมั่นคง/เศรษฐกิจ/' ระหว่างประเทศ

Reply
Vote
# Tue 11 Jun 2019 : 7:56PM

"MnemoniC"
member

Since 2015-12-08 01:43:55
(5799 post)
‘บิ๊กเพนตากอน’ระบุในคำปราศรัยสำคัญ ‘จีน’ต้องหยุดพฤติกรรมบั่นทอนอธิปไตยของชาติอื่นๆ


รักษาการนายใหญ่เพนตากอน แพทริก แชนาแฮน กล่าวปราศรัยแจกแจงนโยบาย “อินโด-แปซิฟิก” ของสหรัฐฯ ในการประชุม แชงกรีลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์ วันที่ 1 มิ.ย.

By Simon Roughneen, Singapore
01/06/2019

แพตริก แชนาแฮน รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวย้ำยืนยันความผูกพันที่อเมริกามีอยู่กับภูมิภาคที่อเมริกาเวลานี้พยายามเรียกขานด้วยวลีแฝงนัยต่อต้านจีนว่า “อินโด-แปซิฟิก” แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ถึงขนาดเรียกร้องชาติต่างๆ ต้องตัดสินใจเลือก “อยู่ข้างเรา หรือไม่ก็อยู่ข้างตรงกันข้ามกับเรา”

รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แพตริก แชนาแฮน (Patrick Shanahan) ใช้โอกาสไปร่วมเวทีประชุมความมั่นคงระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อประกาศนโยบายครั้งสำคัญของเขา โดยในคำปราศรัยซึ่งได้รับการจับจ้องคาดหมายกันคราวนี้ เขาออกปากเตือนจีนว่า “พฤติกรรมซึ่งบั่นทอนอธิปไตยของชาติอื่นๆ และหว่านเพาะความไม่ไว้วางใจต่อเจตนารมณ์ของจีน จักต้องยุติลงได้แล้ว”

แต่ในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมระดับท็อปของอเมริกาผู้นี้ก็หยุดยั้งตัวเอง ไม่ถึงขึ้นเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าข้างฝ่ายไหนในการเผชิญหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีนซึ่งกำลังดุเดือดเข้มข้น รวมทั้งบอกด้วยว่ายังคงมีโอกาสที่อภิมหาอำนาจทั้งสองจะทำความตกลงกันได้

“สหรัฐฯไม่ได้ต้องการให้ประเทศใดๆ ในภูมิภาคนี้ต้องเลือกข้าง หรือต้องยอมละทิ้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นผลบวกกับหุ้นส่วนใดๆ ทั้งนั้น” แชนาแฮนกล่าว พร้อมกับพูดต่อไปโดยที่มิได้เอ่ยนามแต่ก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขากำลังกล่าวถึงจีน ว่า “บางรายในภูมิภาคของเรากำลังเลือกที่จะกระทำสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับหลักการต่างๆ และบรรทัดฐานต่างๆ ที่ให้ผลประโยชน์แก่พวกเราทั้งหมด”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯนั้นได้ส่งสัญญาณให้ทราบล่วงหน้าว่า แชนาแฮนจะประทับตีตราภูมิภาคนี้เป็นยุทธบริเวณ “ที่ทรงความสำคัญลำดับแรกๆ” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วเมื่อพิจารณาจากขนาดขอบเขตอันใหญ่โตของอินโด-แปซิฟิก และเมื่อพิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงทางการทหารในขอบเขตทั่วโลกซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วของสหรัฐฯเอง

“ในอดีต เราไม่ได้มีทรัพยากรและไม่ได้มีเงินทุน” แชนาแฮนบอก ขณะกำลังพูดถึงสิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่บอกเอาไว้ก่อนแล้วว่า นี่จะเป็นคำปราศรัยซึ่งกล่าวถึงนโยบายอินโด-แปซิฟิกที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขกันใหม่

เมื่อการปราศรัยของแชนาแฮนจบลง กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยังได้เผยแพร่เอกสาร “รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Strategy Report) ฉบับใหม่ ซึ่งกล่าวหาจีนว่ากำลังแสวงหา “ความเป็นเจ้าใหญ่ระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะใกล้ และ การมีอำนาจเหนือใครๆ ทั่วโลกในระยะยาวในท้ายที่สุด”

แชนาแฮนกล่าวโดยไม่ได้เอ่ยชื่อจีน ว่ามี “กล่องเครื่องมือแห่งการใช้อำนาจบีบบังคับผู้อื่น” แล้วก็ร่ายยาวถึงความคับข้องใจต่างๆ ของสหรัฐฯเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายจีนในภูมิภาคนี้ เป็นต้นว่า “การติดตั้งประจำการระบบอาวุธอันก้าวหน้าเพื่อเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีกรณีพิพาทช่วงชิงอยู่กับประเทศอื่นๆ” และ “การทำตัวเป็นโจรชนิดอุปถัมภ์โดยรัฐ เพื่อขโมยเทคโนโลยีทางทหารและทางพลเรือนของชาติอื่นๆ”

“ไม่มีชาติหนึ่งชาติใดเลยที่สามารถ –หรือที่ควรจะ—ครอบงำอินโด-แปซิฟิก” เอาไว้แต่ผู้เดียว แชนาแฮนกล่าว แต่เมื่อถูกถามว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯกัคบจีนกำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ เขาก็ตอบว่า “มีการเผชิญหน้ากันหรือ? ผมหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน และผมก็เห็นพูดถึงสงครามการค้า แต่ผมมองไม่เห็นว่ามีสงครามการค้านะ ผมเห็นการเจรจาการค้าที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”

เอียน สตอเรย์ (Ian Storey) แห่ง สถาบันไอเซียส ยูโซฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof Ishak Institute) ซึ่งเป็นองค์การด้านการวิจัยทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ กล่าวให้ความเห็นว่า “คำปราศรัย (ของแชนาแฮน) นี้ ส่วนหนึ่งเพื่อตอกย้ำให้ (พวกชาติพันธมิตร) เกิดความมั่นใจ และส่วนหนึ่งก็เป็นการตะโกนเรียกหาจีน มันทำให้เกิดความหวังที่ว่าสหรัฐฯกับจีนอาจสามารถคลี่คลายความแตกต่างไม่ลงรอยกันของพวกเขาได้”

“มีการตั้งความคาดหมายกันเอาไว้ว่า เขาจะให้รายละเอียดเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง แต่เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นจริงๆ สักเท่าไร” สตอเรย์กล่าว

แชนาแฮนกล่าวปราศรัยคราวนี้ในเวทีประชุม “แชงกรีลา ไดอะล็อก” (Shangri-La Dialogue) อันเป็นงานชุมนุมประจำปีของเหล่ารัฐมนตรีกลาโหมจากทั้งเอเชีย, ยุโรป, และอเมริกาเหนือ ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ และดำเนินการโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (International Institute for Strategic Studies ใช้อักษรย่อว่า IISS) ซึ่งเป็นองค์การคลังความคิด (think-tank) ด้านความมั่นคงเก่าแก่ชื่อเสียงโด่งดังที่ตั้งฐานอยู่ในอังกฤษ

ในหมู่ผู้ฟังคำปราศรัยของแชนาแฮน คนหนึ่งคือ เว่ย เฟิ่งเหอ (Wei Fenghe) รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ผู้ซึ่งมีกำหนดขึ้นพูดในตอนเช้าวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) และเป็นที่คาดหมายกันว่า เขาจะโน้มน้าวชักชวนให้เห็นผลประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ผู้ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯก้าวขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายในทศวรรษข้างหน้านี้


รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แพทริก แชนาแฮน (ซ้าย) จับมือกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน เว่ย เฟิ่งเหอ ขณะพบปะหารือกันข้างเคียงการประชุม “แชงกรีลา ไดอะล็อก” เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่สิงคโปร์

ถึงแม้รัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองได้พบปะหารือกันในคืนวันศุกร์ (31 พ.ค.) ซึ่งแชนาแฮมบอกว่าเป็นการพบปะที่ “ดีมาก” แต่กล่าวกันว่าเว่ยได้หยิบยกพูดถึงเรื่องที่เขามองเห็นว่าเป็นคำพูดและการกระทำ “อันไม่สร้างสรรค์” ของสหรัฐฯ ในเรื่องไต้หวัน

ความตึงเครียดระหว่างยักษ์ใหญ่ทั้งสองในเรื่องเกาะที่มีการปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งจีนมองว่าเป็นมณฑลกบฎทรยศของตน น่าที่จะเพิ่มทวีขึ้นในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) ของสหรัฐฯ มีกำหนดที่จะขึ้นพูดเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีของการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยที่มันอาจจะเป็นการบรรเลงซ้ำคำปราศรัยของเขาในเดือนตุลาคมปี 2018 ซึ่งโจมตีปักกิ่งอย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า จีน “ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการผลักดันสหรัฐอเมริกันให้ออกจากแปซิฟิกตะวันตก และพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เราเข้าไปช่วยเหลือเหล่าพันธมิตรของเรา”

วลี “อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) ถูกนำเอามาใช้เป็นศัพท์แสงทางการทูตโดยญี่ปุ่นเมื่อกว่า 1 ทศวรรษมาแล้ว ทว่าเพิ่งเป็นที่ยอมรับถูกนำมาใช้ในวงกว้างขึ้นมาก หลังจากที่คณะบริหารทรัมป์มุ่งหาทางใช้วลีนี้เพื่อแทนวลี “เอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งใช้กันมายาวนานกว่านักหนา --โดยที่หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นสัญญาณเชิงถ้อยคำโวหารของการจับกลุ่มกันอย่างหลวมๆ เพื่อต่อต้านจีนซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ การจับกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “ควอด” (quad) ซึ่งแปลว่า 4 โดยนอกจากสหรัฐฯแล้ว ยังประกอบด้วยอินเดีย, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลีย

ยังจะต้องติดตามกันต่อไปว่าพวกประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเดินตามแนวทางของสหรัฐฯนี้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 10 ชาติสมาชิกของสมาคมอาเซียน ซึ่งหลายๆ รายมีความผูกพันอันใกล้ชิดในทางทหารและทางเศรษฐกิจกับทั้งจีนและสหรัฐฯ

ในการเปิดตัวรายงานความมั่นคงของภูมิภาคฉบับใหม่เมื่อวันศุกร์ (31 พ.ค.) วิลเลียม ชูง (William Choong) แห่ง IISS กล่าวเตือนว่า ถึงแม้อาเซียนยอมรับนำเอาวลีอินโด-แปซิฟิกไปใช้ แต่ “สิ่งที่อาเซียนเข้าใจนั้นมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่สหรัฐฯขบคิด”

ขณะเปิดการประชุม แชงกรีลา ไดอะล็อก คราวนี้ที่สิงคโปร์เมื่อคืนวันศุกร์ (31 พ.ค.) นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ กล่าวว่า พวกประเทศเล็กๆ นิยมชมชอบมากกว่าที่จะไม่ต้องเลือกอยู่ข้างใครในกรณีพิพาทระหว่างมหาอำนาจใหญ่ เขาเรียกร้องขอให้ยักษ์ใหญ่ทั้งสองทำความตกลงกันให้ได้ โดยระบุว่า “ระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้นไม่ได้มีความแตกแยกเชิงอุดมการณ์ชนิดที่ไม่อาจปรองดองกันได้”

หนึ่งในอาณาบริเวณหลักของการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็คือ ทะเลจีนใต้ ที่เกือบทั้งหมดถูกจีนอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งไม่เพียงทำให้ปักกิ่งเกิดปัญหากับพวกรัฐเพื่อนบ้านที่กล่าวอ้างสิทธิเช่นเดียวกันอย่างเช่นเวียดนามและฟิลิปปินส์ แต่ยังกำลังคุกคามที่จะบ่อนทำลายสถานะความเป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศของทะเลแห่งนี้อีกด้วย

ในการตอบโต้การกล่าวอ้างของจีน และการถมทะเลสร้างเกาะเทียมแห่งต่างๆตลอดจนการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารบนเกาะเหล่านี้ของจีน สหรัฐฯก็กำลังดำเนินสิ่งที่อ้างว่าเป็นการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาวุฒิสมาชิกอเมริกันกลุ่มหนึ่งได้หยิบยกพูดถึงข้อเสนอที่จะหาทางแซงก์ชั่นคว่ำบาตรธุรกิจต่างๆ ซึ่งผูกพันกับการปฏิบัติการทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้อีกด้วย

ลีกล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ของจีนในทะเลแห่งนี้ ควรที่จะกระทำ “โดยผ่านการทูตและการประนีประนอมกัน แทนที่จะใช้กำลังหรือการข่มขู่ที่จะใช้กำลัง ขณะเดียวกันก็ต้องให้น้ำหนักแก่ผลประโยชน์แกนกลางและสิทธิต่างๆ ของประเทศอื่นๆ ด้วย”

การกล่าวปราศรัยของแชนาแฮนครั้งนี้ บังเกิดขึ้นขณะที่สหรัฐฯและจีนบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหม่ต่อสินค้าออกของกันและกัน โดยสินค้าจีนที่ส่งเข้าอเมริกามูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตรา 25% และสินค้าอเมริกันที่ส่งเข้าแดนมังกรมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ถูกขึ้นภาษีในอัตราระหว่าง 5 – 25% ทั้งนี้หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมว่า ภาษีศุลกากรซึ่งจัดเก็บเพิ่มจากสินค้าเข้าของจีนในอัตรา 10 % ตั้งแต่กลางปี 2018 อยู่แล้ว จะถูกขยับเพิ่มขึ้นอีก

ในเรื่องข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยี อันรวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยีสื่อสารเจเนอเรชั่นที่ 5 (5จี) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้กลายเป็นตัวครอบงำเหนือความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนนี้ แชนาแฮนได้กล่าวในการปราศรัยคราวนี้ว่า “ผมไม่ชอบเลยเมื่อทรัพย์สินทางปัญญาถูกโจรกรรมไป นี่เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่เราต้องการที่จะแก้ไข”

“หัวเว่ยมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลมากเกินไป” เขากล่าว โดยเป็นการอ้างอิงถึงกฎหมายที่กำหนดเรียกร้องให้พวกธุรกิจของจีนต้องแชร์ข้อมูลข่าวสารกับรัฐบาลถ้าหากถูกเรียกร้อง “จีนมีนโยบายและกฎหมายระดับชาติซึ่งข้อมูลถูกกำหนดเรียกร้องให้ต้องแชร์ นี่เป็นความเสี่ยงที่มากเกินไปสำหรับทางกระทรวง (กลาโหมสหรัฐฯ)”

เดิมพันในสงครามเทคโนโลยีและการค้านี้ ได้ถูกเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในวันศุกร์ (31 พ.ค.) โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) ผู้ซึ่งเสนอแนะระหว่างไปเยือนชาติพันธมิตรยาวนานของสหรัฐฯอย่างเยอรมนีว่า ประเทศต่างๆ ซึ่งติดต่อทำธุรกิจกับหัวเว่ย บริษัทจีนที่เป็นผู้บุกเบิกนำหน้ากว่าใครเพื่อนในเรื่อง 5 จีน อาจหมายความว่ากำลังตัดตัวเองออกจากการแชร์ข่าวกรองบางส่วนกับสหรัฐฯ

“เราไม่อาจยินยอมให้ข้อมูลของเอกชนของพลเมืองจากสหรัฐฯ หรือข้อมูลความมั่นคงข้อมูลระดับชาติจากสหรัฐฯ ถูกส่งผ่านข้ามเครือข่ายการสื่อสารที่เราไม่ได้มีความมั่นอกมั่นใจ ที่เราไม่เห็นว่าเป็นเครือข่ายซึ่งสมควรเชื่อถือไว้วางใจ” พอมเพโอบอก

เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯได้ประกาศมาตรการจำกัดบีบคั้นหัวเว่ยระลอกใหม่ ซึ่งเป็นการบังคับให้พวกบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งต้องขบคิดพิจารณาใหม่เกี่ยวกับสายสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับยักษ์ใหญ่เทคสื่อสารไร้สายแห่งนี้ ทว่าพวกประเทศทางเอเชียอย่างเช่นมาเลเซีย ยังคงประกาศว่าความตกลงการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่กับหัวเว่ยนั้น จะยังดำรงคงอยู่และดำเนินกันต่อไป

ขณะที่การเผชิญหน้ากับจีนทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์กำลังดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯก็กำลังนำเอาจุดยืนแบบ “อยู่ข้างเรา หรือไม่ก็อยู่ข้างตรงกันข้ามกับเรา” มาใช้เพิ่มมากขึ้นทุกทีในกรณีการติดต่อทำธุรกิจระหว่างพวกประเทศที่สามกับหัวเว่ย จึงกำลังก่อให้เกิดวิตกกังวลขึ้นมาว่า วิธีการเช่นนี้อาจจะถูกนำมาใช้ในความผูกพันทางทหารและทางการทูตด้วย

“ผมคิดว่ามันเป็นความฉลาดที่ (รักษาการ) รัฐมนตรี(แชนาแฮน) ไม่ได้งัดเอาไพ่ ‘อยู่ข้างเรา หรือไม่ก็ต้องอยู่ข้างตรงข้ามเรา’ ขึ้นมาเล่น” ในคำปราศรัยของเขา นี่เป็นความเห็นของรองผู้อำนวยการใหญ่ IISS โครี เชค (Kori Schake) ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ “ผลประโยชน์ของอเมริกันจะรักษาเอาไว้ได้ดีที่สุด ก็ด้วยการพูดว่าเราไม่ได้กำลังจะทำให้เพื่อนมิตรของเราต้องเลือก”

ที่มา: ผู้จัดการ ออนไลน์

Reply
Vote




3 online users
Logged In :