Menu
[--mobilemenu--]
บราวเซอร์ของท่านไม่สนับสนุนหรือปิดการใช้งาน javascript ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานไซต์บางส่วนเช่นการเข้าลิ้งค์ หรือโพสข้อความได้ตามปกติ, กรุณาเปิดการใช้งาน javascript เพื่อที่จะใช้งานเว็บ gconhubม หากมีปัญหาในการใช้งาน หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ [email protected] หรือ [email protected]
[ไม่ใช่การเมืองไทย] กระทู้ 'การเมือง/ความมั่นคง/เศรษฐกิจ/' ระหว่างประเทศ

Reply
Vote
# Fri 20 Oct 2017 : 10:34PM

toranin
member

Since 19/8/2008
(10420 post)
พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ - เชษฐา

จากเหตุที่รัฐบาลฟิลิปปินส์รบชนะที่มาราวี มีหลายคนพูดเปรียบเทียบว่าทำไมไทยอ่อนแอทำไม่ได้บ้าง ซึ่งจริงๆ ปัญหาของไทยมีความซับซ้อนมากมาย แต่การพูดแบบนี้เป็นการบั่นทอนคนที่เขากำลังพยายามแก้ไขอยู่ ผมขออธิบายดังนี้นะครับ

1. การก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ไม่ได้จบในห้าเดือน: สิ่งที่จบในห้าเดือนคือศึกมาราวี แต่ความขัดแย้งในมินดาเนานั้นดำเนินมาห้าสิบปีแล้ว มีสงครามใหญ่หลายครั้ง ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง แม้ศึกมาราวีได้รับชัยชนะ แต่นั่นแค่ปราบกลุ่มอาบูไซยัฟ และเมาเต้ ในความจริงยังมีกลุ่มยิบย่อยอีกมาก

2. การก่อการร้ายในฟิลิปปินส์ อยู่ในระดับสูงและรุนแรงกว่าไทย: เอาตัวเลขง่ายๆ ที่ผ่านมามีคนตายจากการก่อการร้ายภาคใต้ไทย 6,543 คน (ถึงปี 2015) แต่ของฟิลิปปินส์ที่ผ่านมาตายไปแสนสองนะครับ การก่อการร้ายในไทย อยู่ในระดับพวกก่อการยังที่ซื้อใจชาวบ้านได้จำกัด ส่วนใหญ่เลยต้องลงใต้ดิน หากในฟิลิปปินส์นั้นซื้อใจชาวบ้านได้มากถึงขั้นรบเปิดหน้าสู้ได้ ครองพื้นที่ได้หลายครั้ง แต่ปัญหาหลักๆ คือมีหลายกลุ่ม รบชิงความเป็นใหญ่กันเอง เห็นแบบนี้เคสของฟิลิปปินส์ยังรุนแรงน้อยกว่า พม่า หรือศรีลังกาอีก


3. พวกก่อการร้ายไทย เคยมีศักยภาพลุกฮือขึ้นรบตรงๆ แต่ก็ถูกจัดการอย่างเด็ดขาดรุนแรงมาแล้ว: จำเหตุกรือเซะ 2547 ได้ไหมครับ ตอนนี้ผู้ก่อการร้ายหลายร้อยบุกเข้าตีรัฐบาลพร้อมกันหลายจุด แต่ข่าวกรองเราดีทำให้เตรียมรับมือทัน สรุปผู้ก่อการร้ายตายร้อยกว่าคนแล้วแตกหนีไป ส่วนรัฐบาลตายแค่ห้าคน นับจากนั้นกลุ่มก่อการร้ายไทยก็ไม่มีศักยภาพในการรบเปิดหน้าตรงๆ อีก

4. เทียบกับเหตุกรือเซะแล้ว มาราวีคือสัญลักษณ์ของความล้มเหลว ไม่ใช่ความสำเร็จ: ในตอนกรือเซะถ้ารัฐบาลหยุดยั้งไว้ไม่ได้ในวันนั้น มันก็อาจขยายผลมายึดเมืองได้เหมือนกัน ดังนั้นมาราวีคือตัวอย่างของการหยุดยั้งไว้ไม่สำเร็จจนทำให้มีผู้บาดเจ็บสูญเสียจำนวนมาก การรบแบบเปิดหน้าสู้โดยกบฏไม่แข็งแกร่งนัก ผู้นำก็มีนโยบายเด็ดขาด แต่ทหารฟิลิปปินส์กลับต้องใช้เวลาถึงห้าเดือนในการสยบ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอมากกว่า

5. การจัดการด้วยความรุนแรงก็เช่นเดียวกับแนวทางประนีประนอม คือไม่ได้เป็นผลดีหรือร้ายเสมอไป: ในอดีตที่ผ่านมา มีหลายครั้งรัฐบาลปราบปรามกลุ่มต่อต้านด้วยความรุนแรง กลับทำให้ชาวบ้านเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือจนกลุ่มต่อต้านกล้าแข็งขึ้นมาอีก ในอดีตแนวทางเจรจาก็สร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้หลายครั้ง

รัฐบาลทุกคนรวมถึงคนที่แข็งกร้าวอย่างปูตินก็ต้องรู้จักใช้ไม้แข็งไม้อ่อน ไม่ใช่ปราบหมดแล้วจะดี หรือประนีประนอมหมดแล้วจะดี ที่เราวิจารณ์เรื่องพาโจรกลับบ้าน มันคือไม้นึงของรัฐบาลซึ่งอาจจะได้ผลหรือไม่ก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่ามันต้องแย่เพราะเป็นไม้อ่อน


6. ปัญหาการก่อการร้ายภาคใต้มีความซับซ้อนมาก: ที่บอกว่ามันถูกเลี้ยงไข้เอาไว้ผลาญงบ หรือถูกเอามาปนๆ กับความขัดแย้งท้องถิ่นก็คงมีส่วนจริง แต่มันก็มีคนอยู่ตรงนั้นที่พยายามประสานให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนอยู่ ยังไงเราในฐานะผู้ติดตามดู ไม่พูดบั่นทอนสร้างความแตกแยก พูดให้กำลังใจพวกเขา ก็จะเป็นประโยชน์กับการแก้ไขสถานการณ์มากกว่า

อ่านเพิ่มเติมประวัติการก่อการร้ายฟิลิปปินส์จากกระทู้ผมที่นี่นะครับ
https://pantip.com/topic/36747859


#######################################


พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ - เชษฐา

อธิบายเรื่องกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอิสลามในฟิลิปปินส์ รวมถึงเรื่องเมืองมาราวีอย่างคร่าวๆ นะครับ:
1. ฟิลิปปินส์แบ่งเป็นหลายส่วน เกาะมินดาเนาซึ่งเป็นเกาะใหญ่ทางด้านใต้นั้นแต่เดิมเป็นถิ่นฐานของรัฐสุลต่านนับถืออิสลามหลายรัฐ ร่วมวัฒนธรรมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน

2. สเปนมายึดฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นอยู่สามร้อยปี ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่เคยยึดครองรัฐสุลต่านภาคใต้ได้เด็ดขาดเลย และไม่สามารถเปลี่ยนศาสนาคนท้องถิ่นได้ ทำให้พวกทางใต้มีความรู้สึกแปลกแยกกับพวกทางเหนือซึ่งถูกสเปนปกครองยาวนานจนรับวัฒนธรรมและศาสนาคริสต์มานับถือ

3. ต่อมาเมื่อสเปนรบแพ้อเมริกา อเมริกาก็มายึดครองฟิลิปปินส์ด้วย และอเมริกานี้เองเป็นผู้ปราบชาวมุสลิมในมินดาเนา รวบรวมเป็นดินแดนฟิลิปปินส์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

4. อเมริกาไม่ไว้วางใจมุสลิม จึงทำสิ่งที่อังกฤษมักทำได้แก่ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" อพยพชาวคริสต์ลงไปเยอะๆ ให้ครองที่ดีๆ จนมุสลิมกลายเป็นประชากรส่วนน้อยในเกาะดังกล่าว ปัจจุบันมินดาเนามีชาวคริสต์ 80% อิสลาม 20% ชาวมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหงเป็นอันมาก

5. มีความพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวโมโร (พวกมุสลิมในฟิลิปปินส์เรียกตัวเองว่าโมโร เพี้ยนมาจากคำว่ามัวร์ที่สเปนใช้เรียกคนอิสลาม) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนสำคัญกลุ่มแรกชื่อว่า Moro National Liberation Front หรือ MNLF พวกนี้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ไม่เคร่งศาสนา

6. พวก MNLF เริ่มสู้ปี 1972 พอถึง 1976 ก็ทำสัญญาสันติภาพกับรัฐบาล แต่ก็ทะเลาะกันอีก ไม่ได้ทำสัญญาสำเร็จจนปี 1996 เมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ยอมให้ซีกเล็กๆซีกหนึ่งของมินดาเนาเป็นเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมเรียกว่า Autonomous Region in Muslim Mindanao หรือ ARMM มีคนใหญ่คนโตของ MNLF เข้าร่วมรัฐบาลหลายคน ปกครองอยู่ราว 5 ปีก็มีเรื่องทะเลาะกับรัฐบาลอีก เป็นไม้เบื่อไม้เมาจนปัจจุบัน

7. ในปี 1976 พวก MNLF บางส่วนไม่พอใจท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลของกลุ่มแม่ จึงแตกออกไปเป็นกลุ่ม Moro Islamic Liberation Front หรือชื่อย่อเซ็กซี่มากว่า MILF (อายุต่ำกว่า 18 อย่าเอาคำนี้ไปเสิร์ชใน google image นะครับ)

กลุ่ม MILF นี้เคร่งศาสนา ได้ต่อสู้กับรัฐบาล สลับกับทำสัญญาสันติภาพหลายครั้ง ถูกรัฐบาลปราบปรามก็มาก ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงมีสันติภาพกันอยู่

8. ปี 1990-1991 สมาชิก MNLF อีกส่วนหนึ่งไม่พอใจที่ทางกลุ่มแม่มีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาล ประกอบกับช่วงนั้นอัลเคดาแผ่อิทธิพลมา จึงแยกตัวไปสร้างกลุ่มชื่อ "อาบูไซยัฟ" สวามิภักดิ์อัลเคดา ทำการก่อการร้าย ถอดแบบมาจากลัทธิก่อการร้ายสากลของอัลเคดาทุกประการ

9. ปี 2008 สมาชิก MILF ไม่พอใจที่กลุ่มแม่มีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาล (คุ้นๆมะ นี่ผมใช้ copy paste นะ) จึงแยกตัวออกมาตั้งกลุ่ม Bangsamoro Islamic Freedom Fighters หรือ BIFF ต่อสู้ต่อไป

10. ในสมัยปัจจุบันเมื่อ ISIS ประกาศตั้งรัฐกาหลิบขึ้นอย่างฮึกเหิม คำประกาศนั้นซี๊ดซ๊าดโดนใจชาวหัวรุนแรงวัยกระเตาะเป็นอันมาก จึงมีหลายกลุ่มประกาศสวามิภักดิ์ ISIS พวกที่มีชื่อเสียงได้แก่:
- 10.1 กลุ่มอันศอร คีลาฟะห์ แตกมาจาก BIFF
- 10.2 กลุ่มอาบูไซยัฟส่วนหนึ่งนำโดยนายอิสนิลอน ฮาปิลอน แตกมาแล้วยังใช้ชื่ออาบูไซยัฟเหมือนเดิม ทำให้มีปัญหากับอาบูไซยัฟที่ยังสวามิภักดิ์อัลเคดา
- 10.3 กลุ่มพี่น้องเมาเต้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่และก่อการยึดครองเมืองมาราวีในปัจจุบัน

ถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพว่าสรุปมันมีหลายกลุ่มมากที่เขียนๆ มานี้ยัง active อยู่ทุกกลุ่ม ไม่นับพวกเล็กๆ ที่ผมไม่เขียนถึง บางกลุ่มมีอุดมการณ์ชาตินิยม บางกลุ่มมีอุดมการณ์ศาสนานิยมแบบกลางๆ บางกลุ่มมีอุดมการณ์ศาสนานิยมหัวรุนแรงแบบอัลเคดา หรือ ISIS

พวกนี้บางทีก็ช่วยเหลือกัน บางทีก็รบกันเองโดยไม่จำเป็นต้องอิงอุดมการณ์ (เช่น ISIS กับอัลเคดาที่อุดมการณ์เหมือนกัน แต่ยังคงฆ่ากันแย่งความเป็นใหญ่) กองทัพฟิลิปปินส์ปราบพวกโมโรหลายกลุ่มมาหลายสิบปี มีคนตายนับแสน นี่ไม่นับสงครามปราบคอมมิวนิสต์ที่ยังสู้กันไม่จบ

...และก็เป็นเรื่องที่เขาต้องรับผิดชอบกันต่อไป เพราะความขัดแย้งนั้นมีรากเหง้ามาจากความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคม...

ที่เขียนมาดังนี้เพื่อบรรเทาความกังวลของหลายคนว่า กลุ่มเมาเต้แม้น่ากลัว แต่ระดับการต่อสู้ที่เขายกขึ้นมาไม่ใช่เรื่องใหม่ และพวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฟิลิปปินส์ทั้งหมด หากเป็นเพียง "กลุ่มที่รบเก่ง" กลุ่มหนึ่ง

ระดับความรุนแรงของฟิลิปปินส์หนักกว่าเคสไทย แต่ไม่ถึงเคสพม่า และห่างไกลจากอิรักซีเรีย

การที่กลุ่มเมาเต้ประกาศสวามิภักดิ์ ISIS ไม่ได้แปลว่า ISIS จะย้ายฐานมาอยู่ฟิลิปปินส์ หรือก่อให้เกิดการก่อการร้ายขึ้นในฟิลิปปินส์จากที่ไม่เคยมีมาก่อน

เครือข่ายญิฮาดสากลมีอยู่ในหลายประเทศมานานแล้ว (อ่านเพิ่มจากเรื่องชุด "ประวัติย่อของ ISIS" ที่ผมเคยเขียนอันนี้ https://www.facebook.com/pg/pongsorn.bhumiwat/photos/?tab=album&album_id=937538489656194) พอ ISIS แข็งแกร่งขึ้นมา ก็มีคนออกมาประกาศตัวสวามิภักดิ์เขาเป็นจำนวนมาก ทั้งในลิเบีย อียิปต์ อัลจีเรีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เยเมน เชชเนีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ พวกนี้หลายๆ กลุ่มก็เก่งกาจถึงขั้นยึดเมือง แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขามีจำนวนมากหรือเก่งขึ้น แต่มีคล้ายๆเดิมแหละ แค่เปลี่ยนชื่อ

นอกจากที่เป็นกลุ่มแล้ว มุสลิมหัวรุนแรงบางคนเห็นข่าว ISIS เจ๋ง เสพสื่อและนิตยสารที่เขาพิมพ์ออกมาบ่อยๆ อินเข้า ก็ประกาศตัวสวามิภักดิ์ ISIS แล้วออกไปก่อการร้ายใต้ชื่อนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการติดต่อจาก ISIS กลางมาก่อนเลยก็ได้ อันนี้เห็นได้บ่อยในอเมริกายุโรป แม้ในไทยก็มีกลุ่มที่ชอบ ISIS อยู่

Reply
Vote




5 online users
Logged In :