Menu
[--mobilemenu--]
บราวเซอร์ของท่านไม่สนับสนุนหรือปิดการใช้งาน javascript ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานไซต์บางส่วนเช่นการเข้าลิ้งค์ หรือโพสข้อความได้ตามปกติ, กรุณาเปิดการใช้งาน javascript เพื่อที่จะใช้งานเว็บ gconhubม หากมีปัญหาในการใช้งาน หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ [email protected] หรือ [email protected]
กระทู้คุยข่าวสารบ้านเมืองไทย ที่เราเลี่ยงคุยเรื่องสถาบันกัน V3

Reply
Vote
# Sun 27 Oct 2024 : 5:54PM

Por_EcrosS
member

Since 2011-10-22 01:48:53
(1482 post)
ขออนุญาติ ยกโพส มาข้างนอกนะครับเรื่อง คลิปพิธาพูดนะครับ

#FactCheck

ก่อนอื่นขอเริ่มจาก  1.ความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลครับ

ตามโพสต์ที่ให้ข้อมูลว่า (รูปที่หนึ่ง)

ภาษีที่จัดเก็บได้

ยะลา - 5.19 พันล้าน
ปัตตานี - 6.8 พันล้าน
นราธิวาส - 6.77 พันล้าน
.
งบประมาณที่ได้
ยะลา - 9.08 พันล้าน
ปัตตานี - 9.44 พันล้าน
นราธิวาส - 8.17 พันล้าน

ข้อเท็จจริงคือ

ข้อมูลส่วนแรกไม่ใช่ภาษีที่จัดเก็บได้ แต่คือ “ที่มารายได้รวมท้องถิ่นรายจังหวัด” ซึ่งหมายถึง เงินที่ “องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” ในแต่ละจังหวัดได้ ประกอบด้วย เงินอุดหนุน รัฐจัดสรร และที่จัดเก็บเองได้ (ข้อมูลจาก ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ: govspending.data.go.th/dashboard/7 สามารถกดดูรายจังหวัดได้)

ข้อมูลส่วนที่สองก็ไม่ใช่งบประมาณในรูปแบบเดียวกัน จึงเปรียบเทียบกันได้ยาก เพราะเป็นชุดข้อมูลของ งบประมาณรายพื้นที่จังหวัด ที่เป็น Area based (ข้อมูลของสำนักงบประมาณ: bb.go.th/web/budget/pro…) คือบอกว่าในพื้นที่นี้ มีงบทั้งหมดทุกหน่วยงาน ทุกโครงการ เท่าไหร่บ้าง ซึ่งต่างจากชุดข้อมูลแรกที่เป็นข้อมูลสำหรับ อปท. เท่านั้น

และแน่นอนว่าข้อมูลส่วนแรกไม่ใช่ ภาษีที่จัดเก็บได้…

ทำไมจึงใช้เทียบกันไม่ได้ จะขอยกตัวอย่างจังหวัดนนทบุรีครับ

ลองกดดู ที่มารายได้รวมท้องถิ่นของจังหวัดนนทบุรี (ที่ในโพสต์ต้นทางบอกว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บได้) ได้รับทั้งหมด 14,767 ล้านบาท ก็ถือว่าเยอะเพราะได้รับมากเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ(ในปีงบ 66) แต่ไม่ได้ห่างแบบหลายเท่าเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น (รูปที่สอง)

แต่เมื่อมาดูในฐานข้อมูลส่วนที่สอง งบประมาณรายพื้นที่จังหวัด (ที่ในโพสต์ต้นทางบอกว่าเป็นงบประมาณที่ได้) จะพบว่านนทบุรีได้รับถึง 251,842,669,200 ล้านบาท! (รูปที่สาม)

ทำไมงบที่ อปท.ในนนทบุรีได้หมื่นกว่าล้าน มากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ ถึงได้แตกต่างกับงบที่ลงในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรีขนาดนั้น ตั้งสองแสนห้าหมื่นล้าน?

คำตอบคือ ข้อมูลในส่วนที่สอง ไม่ได้จำแนกว่าลงไปที่ใดบ้าง เป็นข้อมูล Area based ที่รวมทุกอย่างมาทั้งหมด และสาเหตุที่จำนวนเงินต่างกันขนาดนั้น ก็เพราะในจังหวัดนนทบุรีมีหน่วยราชการส่วนกลางอยู่หลายแห่ง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ฯลฯ

งบประมาณที่ลงไปยังหน่วยงานส่วนกลางเหล่านั้นก็จะถูกนับรวมอยู่ใน งบประมาณรายพื้นที่จังหวัดนนทบุรีนี้ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลส่วนแรกที่เป็นรายได้รวมท้องถิ่นรายจังหวัด

2. สามจังหวัดชายแดนใต้เก็บรายได้ได้น้อย กระจายอำนาจแล้วจะไม่รอด?

ขอยกตัวอย่างจังหวัดยะลา ที่มารายได้รวมท้องถิ่นของจังหวัดยะลาอยู่ที่ 5,192 ล้านบาท (รูปที่สี่ สังเกตุตัวเลขตรงกับต้นโพสต์) จะเห็นได้ว่าในรายได้ส่วนนี้มีทั้ง เงินอุดหนุน รัฐจัดสรร และ จัดเก็บเอง

คำถามตรงนี้ คือ จังหวัดยะลาจัดเก็บได้น้อยแบบนี้ ถ้ากระจายอำนาจไป จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ใช่หรือไม่?

ต้องบอกว่าเป็นการตั้งคำถามที่ผิด อาจเพราะไม่เข้าใจเรื่องการจัดเก็บภาษีและการบริหารการคลัง

คือไม่มีท้องถิ่นที่ไหนในประเทศไทยเลยซักแห่งที่จัดเก็บรายได้เองได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ตัวอย่างที่จัดเก็บได้เยอะ เช่น ภูเก็ต เก็บได้ 28.77% ของรายได้ พัทยา 22.68% ระยอง 18.28%, กทม. 17.15%

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่อาจจะห่างไกลหน่อยหรือมีควาามเป็นเมืองน้อยกว่าก็ไม่ต่างกันมาก เช่น ยะลา 4.07%, ปัตตานี 2.92%, นราธิวาส 2.39%, อำนาจเจริญ 3.18%, น่าน 3.70%, เลย 3.61% เป็นต้น

เป็นเรื่องปกติที่ส่วนกลางต้องให้เงินท้องถิ่นเพราะส่วนกลางนั้นผูกขาดการหารายได้เอาไว้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ภาษีสรรพสามิต, ภาษีศุลกากร ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ค่าภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ฯลฯ เหล่านี้คือรายได้หลักของรัฐที่เก็บเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วในบางแหล่งรายได้จะค่อยแบ่งกลับมาให้ท้องถิ่นต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดกันไว้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งส่วนนี้คืออยู่ในส่วนของงบท้องถิ่นที่รัฐจัดสรร

ซึ่งในกรณีนี้ก็มีปัญหา เพราะตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ก็กำหนดสัดส่วนที่จะให้ส่วนกลาางแบ่งให้ท้องถิ่นแต่ละที่อย่างหยาบเกินไป ไม่ตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และที่สำคัญคือยังน้อยเกินไป

โดยที่ท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บรายได้ที่จำกัดมาก เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และค่าธรรมเนียมค่าใบอนุญาตบางประเภทเท่านั้น ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินอย่างไรก็ไม่เพียงพอ

อีกแบบหนึ่งคือเงินอุดหนุนตามงบประมาณ ที่มีทั้งทั่วไปและเฉพาะกิจตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนกลางให้ท้องถิ่นเพื่อเติมให้เพียงพอ บางครั้งก็เป็นงบฝาก ที่ท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้นอกจากส่งต่อให้ประชาชน เช่น เงินคนชรา ส่วนเฉพาะกิจอาจมีลักษณะให้เพื่อให้ท้องถิ่นทำโครงการตามมนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ

โดยสรุป รายได้ของท้องถิ่นของประเทศไทยจะมีสัดส่วนโดยประมาณ คือ งบที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ประมาณ 10% งบที่รัฐจัดสรร (รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้) ประมาณ 50% และ เงินอุดหนุนผ่านงบประมาณแผ่นดิน ประมาณ 40%

ซึ่งเมื่อต้องการรู้ว่าท้องถิ่นได้งบประมาณพอหรือไม่ ต้องไปดูสัดส่วนงบที่ลงสู่ท้องถิ่นในแต่ละปี โดยรัฐสัญญาไว้ว่าจะมีสัดส่วน 35% แต่ในความเป็นจริง ยังอยู่ที่ 29% แถวๆ นี้มาเป็นสิบปีแล้ว ไม่มีการขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มิหนำซ้ำงบส่วนหนึ่งยังเป็น “งบฝาก” ที่รัฐฝากให้ท้องถิ่นทำงานแทนเท่านั้น แต่ก็นำมาคิดรวมด้วย ทำให้งบประมาณที่ท้องถิ่นได้จริงๆ ยิ่งน้อยกว่าเป้าหมายลงไปมาก ส่งผลให้การกระจายอำนาจยังไม่เดินหน้าได้ซักเท่าไหร่

ดังนั้นการบอกว่าเงินภาษีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่พอเลี้ยงตัวเอง จึงไม่มีความหมาย เป็นการพูดโดยไม่เข้าใจบริบท เพราะไม่มีท้องถิ่นใดเลยในประเทศไทยที่เก็บรายได้พอเลี้ยงตัวเอง เนื่องจากส่วนกลางเป็นคนจัดเก็บรายได้หลักแล้วถึงค่อยแบ่งให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นเก็บภาษีหลักๆ เองไม่ได้

พรรคก้าวไกลในเวลานั้นจึงมีนโยบายเรื่องกระจายอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น

- เลือกตั้งผู้ว่าฯ(นายกจังหวัด) ทุกจังหวัด ปรับโครงสร้างให้หัวหน้าจังหวัดมีคนเดียว จากตอนนี้ที่มีสองคือ ผู้ว่าฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งมา และนายก อบจ. ที่ได้รับการเลือกตั้งมา (แต่โดยอำนาจแล้วผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งมีอำนาจมากกว่า นายก อบจ.) โดยผ่านการทำประชามติ และไม่มีใครต้องตกงาน เพราะมีแผนในการเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการที่ชัดเจน

- เพิ่มงบท้องถิ่นให้เข้าใกล้เป้าหมายที่ 35% ให้เร็วที่สุด ภายในสี่ปี งบของ อบจ. จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 250 ล้านบาท ต่อจังหวัด งบของ เทศบาลนคร-เทศบาลเมือง จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อเมือง งบของ เทศบาลตำบล-อบต. จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อตำบล งบของ กทม. จะเพิ่มขึ้น 3,300 ล้านบาท งบของ พัทยา จะเพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท
- ปลดล็อกให้ท้องถิ่นมีอำนาจหารายได้ผ่านช่องทางใหม่ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากส่วนกลาง เช่น กู้เงิน ออกพันธบัตร ร่วมทุนเอกชน ตั้งสหการ สร้างวิสาหกิจท้องถิ่นเอง
- ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะได้ทั้งหมด ยกเว้น ทหาร-ศาล-เงินตรา-การต่างประเทศ โดยกำหนดหลักการว่าอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ (เช่น ถนน ขนส่ง ขยะ ไฟฟ้า ประปา โรงเรียน โรงพยาบาล) เป็นของท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางมีเพียงบทบาทในการกำหนดมาตรฐานระดับประเทศ และออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมิน-วัดผลการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น
- ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น เพราะปัจจุบันมีกฎระเบียบที่ทำให้ท้องถิ่นทำงานได้ยากลำบาก และเมื่อมีข้อพิพาท ผลที่ตามมามักไม่เป็นคุณกับท้องถิ่น

และอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องอธิบายกันอีกยาวครับ และพรรคประชาชนก็จะขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจในทิศทางเดียวกันกับพรรคก้าวไกลต่อไป

อย่างไรก็ตาม การตัดคลิปสั้นมาแค่ไม่กี่วินาทีมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และตัวผู้เขียนเองก็ไม่มีความรู้ด้านนี้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นได้ โปรดกระทำด้วยความระมัดระวังครับ

#FactCheckPPLE #explainerPPLE #กระจายอำนาจ

[Link]
[Edited 1 times Por_EcrosS - Last Edit 2024-10-27 17:56:18]

Reply
Vote




12 online users
Logged In :