ไม่ว่าจะมองในมุมของศิลปะหรือธุรกิจ Train to Busan ก็เป็นผลงานภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในบ้านเราอย่างปฏิเสธไม่ได้เสียจริงๆ ซึ่งเมื่อภาคต่อประสบความสำเร็จเช่นนี้แล้ว ทางค่ายจึงได้นำ Seoul Station ภาคเรื่องราวก่อนหน้า (Prequel) ขบวนรถไฟหายนะมาฉาย แต่หักมุมตรงที่มาในรูปแบบแอนิเมชั่น ซึ่งกลายเป็นจุดเสียของภาพยนตร์ไปอย่างน่าเสียดาย (แต่จริงๆแล้วผู้กำกับ ซังโฮ สร้าง Seoul Station ก่อน Train to Busan)
แม้ Seoul Station ยังคงไว้ซึ่งบทภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้ Train to Busan แต่ปัญหาจริงๆกลับเกิดขึ้นจากการกำกับแอนิเมชั่นของตัวซังโฮที่ยังไม่ค่อยน่าประทับใจ และเพลงประกอบที่ก้ำกึ่งระหว่างคำว่าพอดีกับแปลกประหลาด ทำให้บางฉากไม่สามารถส่งพลังทางด้านอารมณ์ไปสู่ผู้ชมได้มากที่ควร เช่นฉากโศกเศร้าเสียใจหรือฉากที่แสดงให้เห้นถึงความสิ้นหวังของตัวละครทั้งหลาย ซึ่งสาเหตุบางส่วนก็เป็นผลมาจากตัวละครเอกอย่างฮเยซันที่ไม่ค่อยน่าสนใจหรือน่าเอาใจช่วยเท่าไรนัก แตกต่างไปจากเหล่าตัวละครใน Train to Busan ที่มีอะไรที่น่าติดตามมากกว่า
แต่มุมหนึ่งที่ Seoul Station โดดเด่นและทำได้เยี่ยมจนอาจก้าวเหนือไปกว่า Train to Busan ก็คือมุมเนื้อหาของมันซึ่งเจาะลึกและเสียดสีได้รุนแรงมากกว่า Train to Busan ตั้งแต่สังคมมนุษย์ที่ตกต่ำ รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ไปจนถึงระบบชนชั้นอันน่ารังเกียจ ต่างถูกถ่ายทอดมาด้วยท่าทีที่ค่อนข้างสุดขีด แรงชนิดที่เราไม่สามารถเรียกตัวละครบางตัว กลุ่มบางกลุ่มว่าเป็นมนุษย์อย่างเต็มปากเต็มคำ หรือแยกแยะพวกเขาออกจากเหล่าซอมบี้ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะช่วงไคลแมกซ์ของเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นจุดที่สูงที่สุดของ Seoul Station อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยปมขัดแย้งและประเด็นสอดแทรกที่สุกงอมจนถึงขีดสุด
ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้ว Seoul Station ก็คงจะเป็นผลงานที่โดดเด่นทางด้านเนื้อหาและปมประเด็นที่สอดแทรก ในขณะที่ Train To Busan เหนือกว่าในด้านของความบันเทิง ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งสองเรื่องก็ยังคงถือได้ว่าเป็นผลงานจากแดนเกาหลีที่ต่างมีคุณค่าไม่แพ้กัน
staff
Since 12/6/2011
(4906 post)