Menu
[--mobilemenu--]
บราวเซอร์ของท่านไม่สนับสนุนหรือปิดการใช้งาน javascript ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานไซต์บางส่วนเช่นการเข้าลิ้งค์ หรือโพสข้อความได้ตามปกติ, กรุณาเปิดการใช้งาน javascript เพื่อที่จะใช้งานเว็บ gconhubม หากมีปัญหาในการใช้งาน หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ webmaster@gconsole.com หรือ raygcon@gmail.com
Review: Until Dawn (PS4) รวมมิตร��าพยนตร์สยองขวัญ
Kanann at 2015-08-27 18:05:22 , Reads (27439), Comments (20) , Source : 8.5

ผู้รีวิวไม่ทราบนะครับว่าผู้อ่านของเวบ Gconhub เราชอบดูภาพยนตร์สยองขวัญกันแค่ไหน ตอนเด็กผมชอบมากนะดูประจำ (เด็กเถื่อน) เกมสยองขวัญก็เล่นประจำ! (นี่ก็เถื่อน) แต่ในระยะหลังมานี้ไม่ค่อยได้ดูหรือได้เล่นอะไรทำนองนี้เท่าไรแล้วครับ อาจจะเพราะเบื่อหรืออาจจะเพราะตอนนี้ชอบอะไรที่มันดูแล้ว/เล่นแล้วสบายใจกว่า แต่ก็ยังพอจะจำได้ว่าพวกหนังสยองขวัญไม่ว่าจะเป็นฆาตกรรม ภูติผีปีศาจ เกมทรมานทรกรรม แนวประสาทหลอน ฯลฯ โดยมีตัวแสดงหลักคือเหล่าวัยรุ่นมาตายกันเละเทะในสถานที่หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมันมีระบบหรือแพทเทิร์นอย่างไรบ้าง ซึ่งผ่านมา 20 30 ปีก็ดูจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก

โดยเฉพาะผลงานที่เอามารีวิววันนี้อย่าง Until Dawn ได้จับทุกอย่างมายำรวมกันทั้งหมดโดยไม่แคร์สื่อใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกมุก ทุกสถานการณ์ ทุกรูปแบบของหนังสยองขวัญถูกรวมกันอยู่ในเกม ๆ เดียว จะออกมาในรูปแบบใดนั้นเราจะนำมาพิจารณาในย่อหน้าถัดไปครับ คราวนี้ได้คนรีวิวถึง 2 คน สตาฟฟ์ Master_Vivi มาร่วมแบ่งปันความประทับใจแล้วก็แบ่งเบาภาระคนที่ไม่ชอบเขียนยาว ๆ อย่างสตาฟฟ์ K (แต่แค่อินโทรก็ล่อไปสองย่อหน้า.............)

 

 

ชื่อเกม Until Dawn ก็สื่อความหมายตรงตัวว่าจะต้องเอาตัวรอดไป "จนกว่าจะรุ่งเช้า" โดยศัตรูนั้นเป็นใครหรืออะไรนั้นถ้าบอกไปตรง ๆ ก็คงจะเป็นการสปอยล์แหลกลาญแน่ เพราะฉะนั้นขอเลี่ยงประเด็นนี้ไปด้วยการเอาเรื่องอื่นมาพูดถึงก่อนละกัน

เริ่มจากทางด้านเทคนิคทั่วไปอย่างกราฟิคของเกมที่พยายามนำเสนอออกมาให้เหมือนคนแสดงจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในจุดนี้ทีมสร้างได้ประโยชน์จากการเป็นเกมที่ทำลองเครื่องเจนปัจจุบันอย่าง PS4 มากกว่าที่จะทำให้อ้าปากอุทานโอ้โหอ้าหา อย่างที่ค่าย Quantic Dream ทำใน Heavy Rain กับ Beyond: Two Souls แต่อันนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าทุนสร้างน่าจะมากกว่ากันเยอะครับ เพราะงั้นใน Until Dawn ก็ได้ความคมนิ้ง 1080p ไปแค่อย่างเดียว เรื่องฉากเรื่องงานศิลป์ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ เกมคือการติดเขา หล่นลงไปในเหมือง ผจญภัยโรงพยาบาลร้าง ไม่ใช่ตะลุยปราสาทท่าเคานท์ซะหน่อยเนอะ ตัวละครก้สวยหล่อน่ารักใช้ได้อยู่ ตัวผู้ชายผมไม่รู้ว่าถูกใจผู้เล่นสุภาพสตรีหรือเพศทางเลือกหรือเปล่า แต่ตัวละครผู้หญิง (ยกเว้นอีเอมิลี่) ผมก็ว่าน่ารักใช้ได้กันทุกคนนะ

ทีนี้สำหรับข้อเสีย ชัดเจน ตรงประเด็น นั่นคือ "เฟรมเรตไม่เคยนิ่งเลยแม้แต่ช็อตเดียว" ถ้าฉากไหนมีพาร์ติเคิลมาก ๆ อย่างพายุหิมะหรือฝุ่นที่ลอยคลุ้งอยู่ในอากาศก็เตรียมตัวเจอเฟรมระดับ 20 ต้น ๆ ได้เลยครับ ถึงจะซูมใกล้หรือห้องแคบก็ค่อนข้างจะไม่เฉียด 30 แถมขึ้น ๆ ลง ๆ อีกไม่รู้ว่าไหงมันออกมาเป็นแบบนี้ไปได้ แต่เกมที่เล่นเหมือนชมภาพยนตร์อย่างนี้พออภัยให้ได้ครับ ถ้าเป็นเกมแนวอื่นนี่คงโมโหระดับล้มโต๊ะแล้ว

ส่วนทางด้านซาวน์ เพลงประกอบ เสียงพากย์ไม่มีข้อติครับ แต่สำหรับผู้ที่ใช้หูฟังเล่นจะไม่ได้ประโยชน์จากความหลอนเท่าไรนัก ไม่มีการอยู่ดี ๆ มีเสียงหัวเราะหรือเสียงกระซิบอะไรมาทำให้ขนลุกเล่น ส่วนใหญ่ก็เสียงฟู่ ๆ ของหิมะ เสียงกรอบแกรบจากการที่มีตัวอะไรเคลื่อนไหวใกล้ ๆ เสียงรองเท้าสวบสาบ แล้วก็เสียงตัวละครที่มาด้วยแพล่ม

 

ผ้าเช็ดตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล วิ่งเป็น ชม. ไม่หลุด (สปอยล์!!)

 

เกมแนวภาพยนตร์แบบนี้ผมนับรวมเกมเพลย์กับเนื้อเรื่องรวมกันไปเลยละกัน เกมเพลย์มีสามรูปแบบคือ 1. เดินทาง เดินสำรวจ 2. เลือกตอบคำถาม หรือเลือกเส้นทางที่จะใช้ในจุดที่เป็นทางลัด เลือกวิธีหนี 3. QTE กดปุ่มที่โผล่ขึ้นมาบนหน้าจอให้ทัน ...โดยสองอย่างแรกนั้นไม่เท่าไรครับ แต่เรื่อง QTE นี้ถ้าผู้เล่นเป็นคนที่ตอบสนองค่อนข้างช้าหรือมักจะผ่อนคลายเวลาเล่นนี่ลำบากแน่นอน QTE นี่มาอย่างว่อง ก็โอเคว่าถึงจะพลาดบ้างอะไรบ้างก็ไม่เป็นไร แค่หัวชนกิ่งไม้ ปีนหน้าผาไม่ขึ้น เดินสะดุดบ้างอะไรบ้างจนตัวเปื้อนมอมแมม ฯลฯ แต่ในสถานการณ์ชี้เป็นชิ้ตายนี่พลาดทีก็คือตายเลย...ตายสนิท แล่วเกมไม่มีการให้กลับไปแก้ตัวหรืออะไรนะครับ พลาดอะไรแล้วอย่างตัวละครตายนี่คือต้องทนอยู่กับมันไปจนจบเกม จบแบบตายหมดก็มี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าทีมทำเกมจะไม่มีจุดบอดเลยในเรื่องนี้ ทริคก็คือ เวลาพลาด กดออกเกมแล้วเข้าใหม่ มันจะไปเริ่มตรงจุดเช็คพอยน์ ซึ่งเกมนี้ส่วนใหญ่จะเซฟตอนเราเก็บไอเท็มครับ

ย่อหน้าต่อจากนี้มีสปอยล์เล็กน้อย

 

ในเรื่องของการดำเนินเรื่องและตัวละคร ในจุดนี้ต้องขอบอกว่าทีมสร้างทำการบ้านมาดีมากครับ ตัวละครนี่ก็ประมาณวัยรุ่นนิสัยงี่เง่ามาเลย ไม่มีใครเทพบุตรจ๋าหรือโคตรนางเอก ทำตัวระรานบัดซบได้หมดทุกคน (โดยเฉพาะอีเอมิลี่! /ตบ) อาจจะมีอยู่สองคนที่ผู้กำกับสั่งมาว่าต้องได้บทหล่อสวยกว่าใครเพราะเป็นตัวละครที่ตายยากสุดก็ไม่ได้น่าเลิฟมากขนาดต้องเอาใจช่วย "อย่าตายนะ ๆ" ...ตาย ๆ ไปก็ได้ไม่ว่า...แน่ะ ยังอยู่อีก... ในขณะเดียวกัน บางตัวก็ยมทูตชอบเหลือเกิน พลาดนิดพลาดหน่อยก็ลาก่อนซะแล้ว...แต่ลาก่อนในที่นี้คือไปในสไตล์หนังสยองขวัญยุค 80s 90s เลยครับ คือไปแบบโง่ ๆ น่ะนะ

บรรยากาศในเกมก็ทำออกมาได้ดีมากครับ จับจุดการถูกทิ้งให้อยู่โดดเดียวกลางภูเขา ในเหมือง หรือโรงพยาบาลร้างออกมาได้โอเค ทุกมุม ทุกซอกทำออกมาได้ดูกดดันว่าผู้เล่นอาจจะเจออะไรเซอร์ไพรส์เมื่อไรกันหนอ เสียดายอยู่อย่างตามที่เคยบอกไปในส่วนซาวน์ว่าความหลอนไม่มีครับ มีแต่มุกสะดุ้งตกใจ ซึ่งตรงนี้ก็มาจากสมัย 80s 90s อีกนั่นแหละ คือเน้น ผ่าง! ไม่ได้เน้นให้เรากลับไปนอนฝันร้ายอีกสองอาทิตย์ ใกล้เคียงกับประสาทหลอนที่สุดจะอยู่ในบทท้าย ๆ (นึกว่าจะไม่ใส่มาแล้ว) ก็มีไม่เยอะ เหมือนกับแนว Torture porn (เช่นในเรื่อง Saw) ตอนแรกก็กลัว ๆ อยู่ว่าจะมีเยอะเพราะผมไม่ชอบแนวนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เยอะครับ 80s 90s จริง ๆ เล้ย~ มีแต่ ผ่าง! เนี่ย...ทั้งนี้ทั้งนั้นใครชอบ Torture porn ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยว่าคุณผิดหวังแน่นอน

ธีมหลักของเกมจะอยู่ที่ Butterfly Effect คือเราทำอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันจะส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ในภายภาคหน้า อันนี้ถ้าบอกไปก็คงจะสปอยล์แน่นอน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ อุ้ย! เจอหมาเห่า สะดุ้งตกใจถีบหน้าแม่น ต่อไปภายหลังมีเรื่องเดือดร้อนเช่นขโมยขึ้นบ้าน หมาแม่มก็จะไม่มาช่วยเราฟัดกับขโมย เป็นต้น คือบางทีก็คิดนะ จากตัวละครที่ตายโง่ ๆ ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว พอเจอ Buttlefly Effect จากเรื่องโง่ ๆ ที่ไม่คิดว่ามันจะมีผลอะไรเมื่อ 5 บทที่แล้วมากำหนดชะตาชีวิตก็...น่าอนาถใจดี...ก็ไม่ใช่พระเอกนี่นะ... ซึ่งตัวเกมก็มีตัวช่วยอยู่ครับคือการเก็บไอเท็มที่เป็น Totem (เสาไม้แกะสลักของอินเดียแดง) ตัวไอเท็มนี้เมื่อดูแล้วจะมีคำใบ้ "สำคัญ" มาก ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เล่นหลีกเลี่ยงความตายได้

ตัวเกมมีจุดที่น่าสนใจหลายประการ เช่นการคั่นกลางระหว่างแต่ละบทของเกมโดยจิตแพทย์ที่ช่วยลดโทนซีเรียสของเนื้อเรื่องลง แล้วในช่วงหลัง ๆ การคุยกับจิตแพทย์คนนี้ที่เราอาจจะคิดในตอนแรกว่าไม่เกี่ยวอะไรกับเกมแค่ทำมาขำ ๆ ก็ดันมาเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ในตัวเกมหลักได้อย่างแนบเนียน การเก็บไอเท็มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่เอาไว้อ่านเล่นหรือดูเล่นเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเนื้อเรื่องในบางครั้งด้วย คำบอกใบ้ที่มากับไอเท็ม Totem ก้ใช้ประโยชน์ได้จริงและทำให้เรารู้ว่าการตัดสินใจไหนถูกต้องอันไหนไม่ถูกต้องด้วย

ส่วนข้อเสียนั้นก็ตามปกติเกมแนวนี้นะ เกมมันจบแค่รอบเดียวจริง ๆ ก็อิ่มแล้วล่ะ ถึงจะมีทางแยกเยอะ มีฉากจบหลายแบบ มีรีแอคชั่นของตัวละครที่ต่างกันตามการตัดสินใจของผู้เล่น แต่เล่นรอบสองไปโดยที่ไม่มีกด fast forward ต้องมาทำอะไรที่มันไปแบบช้า ๆ ซ้ำ ๆ เช่นการเดินสำรวจอีกรอบ คุยกันเรื่องเดิม ๆ อะไรประมาณนี้ก็ดูจะไม่มีความตื่นเต้นอะไรเหลืออยู่แล้วล่ะ ไปดู+กดข้าม ๆๆ ใน youtube เอาเฉพาะในจุดที่ต้องการเห็นก็ได้

 

 

คะแนน 8.5/10 ไอเลิฟยู หนังวัยรุ่นตายกระจาย (คำนี้คิดเอง)

เกมสำหรับแฟน ๆ แนวนี้โดยเฉพาะครับ ถึงเอาเข้าจริงจะตายกันไม่กระจายเท่าไร (นับได้ประมาณ 10 กว่าตาย) แต่ก็โหดพอ สร้างสรรค์พอ แล้วที่แน่ ๆ เลยก็คือสนุกพอครับ

ทีมสร้างบอกว่าเล่นได้หลายรอบ! โทษที ขึ้นรอบ 2 ก็เล่นไปหลับไปแล้ว โกหกกันได้!

สมมติมีภาคต่อไป อยากให้เอามุกซีรีส์ Final Destination มาด้วยเลยสิ รับรอง เละ! (ไม่สยองแล้วงั้น)

 

+0.1 คะแนน กางเกงเปียกวาววับ

 


รีวิวโดย Master_Vivi

หลังจากที่ใช้เวลาในการเล่นรอบแรกจบไปประมาณ 7-8 ชม โดยที่ไม่ได้เข้าไปดูสปอยด์เกมเพลย์ก่อนหน้าเลยแม้แต่น้อย เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ซีเรียสมากกับเนื้อเรื่องของเกมแนวนี้ เลยเข้าใจคนหัวอกแบบเดียวกัน ดังนั้นรีวิวนี้จึง “ไม่ขอสปอยด์เนื้อเรื่องแต่อย่างใด”


ทั่วไป
=======
เข้าเรื่องที่ว่า Until Dawn เกมแนวนี้เป็นเกมแบบไหน สำหรับคนที่เคยเล่นเกมประเภทอินเตอร์แรคทีฟคงจะจินตนาการได้ไม่ยากนัก ยกตัวอย่างเช่น เกมจากค่าย Telltales (The Walking Dead, The Wolf Among Us) ค่าย Quantic Dream (Beyond: Two Souls, Heavy rain) แต่ถ้าใครที่ไม่เคยเล่นเกมแนวนี้ อธิบายแบบง่ายๆ คือ เหมือนภาพยนต์ที่สามารถเลือกทิศทางของเนื้อเรื่องตามตัวเลือกของผู้เล่นเอง ดังนั้นจุดเด่นของเกมแนวนี้คือ ไม่มีเกมโอเวอร์ ความผิดพลาด ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกมจึงไม่ใช่สาระสำคัญของการที่ต้องปิดเครื่องแล้วโหลดเซฟใหม่มาเล่น ข้อดีที่สุดของ Until Dawn ที่ต่างจากเกมอื่นๆ ในแบบเดียวกันที่กล่าวมาข้างต้นคือ “การโหลดเกม” เกมนี้จะไม่เห็นการตัดฉากโหลดเกมเลย (แต่แน่นอนว่าจะมีการแอบโหลดระหว่างที่เล่น) จากที่เห็นในเกมอื่นในแนวเดียวกันจะมีการแบ่งคอนเทนต์เป็นบทๆ ที่ชัดเจน และแต่ละบทจะมีการตัดเข้าหน้าโหลดเกมทุกครั้งก่อนเริ่มบทนั้นๆ แต่ทว่าการเล่นเกม Until Dawn แม้จะมีการแบ่งเป็นบทๆ เช่นกัน แต่ทว่าแต่ละบทต่อกันสนิท จนผู้เล่นอาจจะสงสัยว่าว่าเกมเซฟหรือยังหรือโหลดเนื้อหาเกมกันช่วงไหน? การเล่นในรอบแรกจะมีแค่ New game สำหรับเริ่มเกมใหม่ และ Continue ทำหรับเล่นเกมต่อจากเดิม อาจจะทำให้บางคนหัวเสียได้เพราะถ้าจะเลิกเล่นก็ไม่รู้จะปิดเครื่องช่วงไหนดี ลำหรับคนที่อยากกลับไปแก้การกระทำเก่าๆ เดี่ยวนั้น ก็ทำไม่ได้และไม่สามารถแยกเซฟเกมและโหลดมาเล่นใหม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าผู้พัฒนาคงอยากให้ผู้เล่นเล่นให้เหมือนดูหนังจบทั้งม้วน ส่วนตัวแนะนำให้เล่นไปให้จบรอบแรกด้วยทางเลือกของตัวเองก่อน เพราะว่า “หลังจากเล่นเกมจบหนึ่งรอบแล้ว” รอบที่สองจะสามารถเลือก Episodes เล่นเพื่อไปแก้เนื้อเรื่องได้ แต่ว่าการย้อนกลับไปที่ Episode ที่ต้องการ และเพื่อให้ได้ผลการกระทำส่งต่อไปจะต้อง "เล่นจาก Episode ที่เลือกจนจบเกมเท่านั้น" แนะนำสำหรับคนที่เล่นผิดพลาดในรอบที่สองให้กดออกจากเกมทันทีแล้วเข้าเกมใหม่จะดีกว่า

เนื่องจากกราฟิกของ Until Dawn ใช้เอนจินพัฒนาเดียวกันกับ Killzone Shadow Fall ดังนั้นภาพในเกมจึงสวยงาม ส่วนเฟรมเรทในเกมนี้ ถ้าเป็นฉากนอกอาคารที่มีหิมะหรือ particles เยอะๆ อาจจะเห็นเฟรมเรตตกบ้าง หรือเฟรมกระตุกไปเลยบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ไมไ่ด้รู้สึกรำคาญจนรู้สึกเป็นปัญหากับการเล่น

วิจารณ์ในแง่ของการเป็นภาพยนต์
===========================
โดยส่วนตัวคิดว่า Until Dawn สอบผ่านในความเป็น “ภาพยนต์” ที่ดี เนื่องจากกราฟิกของเกมคอนโซลยุคสมัยนี้พัฒนามากกว่าอดีต การแคปเจอร์หน้าตา สีหน้าตัวละคร ทำออกมาได้ดี สีหน้าตัวละครตอนกลัว ดีใจ ตกใจ โรคจิต ตอนตาย ปาก ตา ผิว นำเสนอออกมาได้สมจริงและสวยงามมาก ดังนั้นปัญหาจึงเป็นหน้าที่ของนักแสดงจริงๆ ว่าจะถ่ายทอดสีหน้าการแสดงของตัวเองออกมาได้ขนาดไหน ก่อนเคยคิดว่า The Order 1886 ทำออกมาได้ดีแล้วในแง่ของกราฟิกคัทซีน หรือสีหน้าตัวละครใน Beyond: Two Souls สวยสมจริงในสมัยสองปีก่อน แต่ Until Dawn โดยรวมทำได้ดีกว่า แต่ถ้าเปรียบกับฉากคัทซีนในตำนานของ The Last of Us ก็คงจะไม่ได้ได้ดีเลิศถึงอารมณ์ดราม่าขนาดนั้นทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะแอคติ้งของตัวละครใน The Last of Us ดีกว่า หรือบทภาพยนต์ดูหนักกว่า แต่สำหรับนักแสดงของ Until Dawn ที่แคสมาก็ไม่ได้น้อยหน้าขนาดนั้น นักแสดงเล่นได้ดีสมบทบาทตามแบบฉบับ “ภาพยนต์สยองขวัญแนววัยรุ่น” ที่ตัวละครแต่ละตัวมีอุปนิสัยเบื่องต้นที่ต่างกันไป ตั้งแต่สาวผมทองสุดสวยแต่มากด้วยความงี่เง่า สาวมั่นที่ดูเป็นนางเอกที่มากไปด้วยความกล้าหาญชาญชัย หนุ่มหล่อสุดฮอตเป้าหมายของสาวๆ หนุ่มสุดเนิร์ดที่ไม่ประสีประสากับความรัก คู่รักสาวเอเชียกับหนุ่มผิวสี แม้ว่าบทพูดอาจจะดูยียวนกวนประสาทตามประสาวัยรุ่นฝรั่ง การกระทำของตัวละครที่ดูคิดตื้นๆ และแอบขัดใจมากในบางครั้ง ที่ชอบมากๆ คือ อุปนิสัยของแต่ละตัวละครในเกมสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ตามการกระทำของตัวละครในเนื้อเรื่อง และจะส่งผลกับเนื้อเรื่องด้วย โดยสามารถเข้าเมนูเกมไปดูรายละเอียดได้ว่าตอนนี้อุปนิสัยของตัวละครและความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยจะอัพเดทแบบแบบเรียลไทม์เลยทีเดียว สุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือเสน่ห์ของการเป็นภาพยนต์แนว “ทริลเลอร์” และ “สยองขวัญ” มุขของความสยองที่ใช้กับ Until Dawn ก็เป็นมาตรฐานแบบเดียวกันกับภาพยนต์แนวนี้ ขอใช้คำว่าเป็นความน่ากลัวแบบ “ตุงแช่” ที่ทำให้ผู้เล่นตกใจบ่อยๆ การใส่หูฟังเล่นอาจจะทำให้ขวัญหายไปอยู่ที่ตาตุ่ม จนอาจจะต้องกดเข้าออพชั่นไปปรับเสียงเอฟเฟคเผื่อเสียงตุงแช่จะลดลงมาบ้าง แต่ฉากบางฉากก็ให้อารมณ์สยองจริงจากมุมกล้องที่นำเสนอ สำหรับฉากในเกมหลายๆ ฉากก็รุนแรงเลือดสาด (gore) แม้ไม่ได้โผล่มาให้เห็นบ่อยๆ แต่ก็ดูสมจริงน่ากลัวแม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นคอมพิมเตอร์กราฟิก และสำหรับคนคาดหวังกับฉากอิโรติกใน Until Dawn อาจจะต้องผิดหวังเพราะแทบจะไม่มีเลย (รีวิวใช้เกมเวอร์ชั่น US เป็นหลัก)


วิจารณ์ในแง่ของการเป็นวีดิโอเกม
===========================
สำหรับการเล่นเกม Until Dawn แน่นอนว่าเกมแนวนี้คงจะหนีไม่พ้นการเล่นที่ประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆ คือ การบังคับตัวละครเดินสำรวจ และการเล่นกดปุ่มตามเหตุการณ์ในคัทซีน (quick time event: QTE)

- การเดินสำรวจ ตรงจุดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเกมอินเตอร์แรคทีฟที่กล่าวไว้ข้างต้น Until Dawn ได้ให้สัดส่วนของการเดินสำรวจเยอะกว่าเกมอื่นๆ ข้อดีคือทำให้ผู้เล่นได้รู้สึกถึงความเป็นเกม (แนวเดินสำรวจของ) มากขึ้น เพราะเราต้องบังคับตัวละครถือไฟฉายเดินด้วยอนาล็อคข้างซ้าย และต้องบังคับตำแหน่งของสายตาให้มองไปในตามที่ต่างๆ ด้วยอนาล็อคด้านขวา (หรือโมชั่นเซนเซอร์) แล้วจะเห็นจุดแสงวิ้งบอกตำแหน่งว่ามีไอเทมอยู่ เมื่อสำรวจจะพบข้อมูล เอกสาร ภาพถ่าย สิ่งของ การสำรวจจะของต้องกดสองสเต็ป คือ จับแล้วพลิกดู แต่ก็ยังดีที่ของทุกชิ้นที่เก็บได้เป็นข้อมูลสำคัญ (Clue) หรือไอเทมที่สำคัญในเกมซะส่วนใหญ่ (ต่างจากเกม The Order 1886 ที่ต้องเก็บของสำรวจในแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเนื้อเรื่องเลย) การเก็บของหรือไม่เก็บของบางชิ้นอาจจะเกี่ยวข้องและส่งผลกับเหตุการณ์ในเกมด้วย ระบบที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ Until Dawn คือการเก็บ “โทเทม” (Totem) ที่เหมือนเครื่องรางที่เมื่อสัมผัสแล้วจะเห็นนิมิตรสั้นๆ ที่บอกถึงความเป็นไปของ “อนาตคอันใกล้” อาจจะบอกถึงเป็นโชคลาภ เป็นคำแนะนำ เป็นข้อควรระวัง หรือแม้แต่ความตาย ถึงกระนั้น Until Dawn ก็มีปัญหาบางอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับเกมแนวมุมมองบุคคลที่สามที่ใช้มุมกล้องล็อคฉากแบบตายตัว เข้าใจว่าเพราะว่ามุมกล้องของเกมสำคัญในแง่ของการนำเสนอบรรยากาศ การเล่นแสดงเงา หรือเพื่อความน่ากลัวและความกดดัน การบังคับทิศทางการเดินตัวละครด้วยแกนอนาล็อคอาจจะทำให้เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องระหว่างเปลี่ยนมุมกล้องระหว่างฉาก ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีออพชั่นเปลี่ยนการบังคับเป็นแบบรถถัง (tank control) อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกมที่มีมุมมองแบบนี้ (นึกถึงเกม Resident Evil แบบเก่า) ข้อเสียที่สุดของการเดินสำรวจในเกม Until Dawn คือ ความเร็วของการเดิน ของตัวละครในเกม ตัวละครมีความการเดินที่ไม่ต่างกันมากนักระหว่างการเดินแบบปกติและการเคลื่อนที่แบบรวดเร็วที่ต้องกดปุ่ม L1 ค้างไว้ บางครั้งทำให้คนเล่นรู้สึกไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เนื้อเรื่องบางสถานการณ์เช่น ตอนที่ตัวละครจะต้องเร่งรีบในการหนีจากอะไรซักอย่าง กดวิ่งแล้วแต่เหมือนเดินไวมากขึ้นมานิดหน่อย ทั้งที่ตัวละครในคัทซีนก่อนหน้าจะวิ่งเอาเป็นเอาตาย พอมีการเชื่อมเป็นช่วงให้บังคับตัวละครเอง ตัวละครกลับเดินจงกลมไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ในคัทซีนก่อนหน้า

- การเล่นกดปุ่มตามเหตุการณ์ในคัทซีน หรือ QTE เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเกม Until Dawn แต่ที่ต่างจากเกมแนวอินเตอร์แรคทีฟที่ผ่านๆ มาคือ สติในการเล่นอาจจะต้องมากกว่าเกมอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นคือ เกมไม่มีระบบเซฟเกมแยกที่เด่นชัดแน่นอน แม้ว่าปุ่มหลักที่ใช้จะมีแค่ประมาณ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม กากบาท วงกลม แต่มันโผล่มาให้กดค่อนข้างไว การตัดสินใจกดผิดกดไม่ทันบางครั้งอาจนำพาไปสู่หายนะของตัวละครได้ง่ายๆ สำหรับอีก QTE ที่ใส่เข้ามาและทำให้ Until Dawn น่าสนใจมากขึ้นคือ “การถือจอยนิ่ง” ห้ามขยับเขยื้อน ขยับนิดเดียวอาจถึงชีวิตจนทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าไม่อยากหายใจเพราะกลัวจะสั่น นอกจากนี้ทางเลือกมักจะมีให้เลือกสองทางบ่อยๆ คือ “ทางลัดอันตราย” และ “ทางทั่วไปแบบปลอดภัย” ถ้าไม่มั่นใจก็ไปแบบปลอดภัย ทำให้ QTE ง่ายกว่า แต่ถ้ารู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลองก็เลือกแบบทางลัด มี QTE ยากๆ ที่ชอบที่สุดคือทางเลือกของเหตุการณ์แบบ “อยู่เฉย” การไม่ต้องกดอะไรหรือทำอะไรในบางเหตุการณ์ ก็มีผลลัพธ์ของมัน และหลายๆ ครั้งก็ให้ผลที่ดีด้วย ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องกดปุ่มหรือเลือกทำอะไรตามที่เห็นเสมอไป นอกจากนี้ Until Dawn จะมีออพชั่นเปิด/ปิด "เลขเปอร์เซนต์" แสดงสถิติของตัวเลือกที่ถูกเลือกจากผู้เล่นคนอื่นทั่วโลก อาจจะมีประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจในสถานการณ์คับขัน

โดยสรุปแล้ว สำหรับคนที่ชื่นชอบเกมแนวอินเตอร์แรคทีฟ และถ้าชอบเล่นเกมหรือดูหนังสยองขวัญด้วยแล้ว Until Dawn เป็นทางเลือกที่คู่ควรที่จะหามาเล่นในช่วงนี้

การนำเสนอ 8.5/10
เกมเพลย์ 7/10
กราฟิก 9/10
รวม 8.2/10



(Click to expand)


แสดงความคิดเห็น
6 more comments >>
Save the cheerleader, save the world
อันติ๋วเดียว
View all 1 comments >
.....
ชอบการเล่าเรื่องนะ Sony โอเคตรงที่เห็นว่าเกม/หนังแนวนี้ เนื้องเรื่องแบบนี้ หายไปพอควร เลยดึงโปรเจกต์นี้ให้มันดูดีขึ้น ไม่ง่ายและไม่ยากจบเกินไป ชอบๆ
น่าเล่น
เกลียดมากตอนให้ไม่ขยับจอยเนี่ย... แล้วก็สั่นซะแรง
View all 2 comments >
ผมใช้วิธีวางมันไว้บนโต๊ะเลยครับ นิ่งมาก
เหมือนกันครับ ผมวางเลย 555
เล่นอยู่ครับ ตายไปคนนึงแล้ว โดนเลื่อยขาดสองท่อนเลย
ใครเล่นอยู่แชร์กันบ้างครับ
ฉากนี้ผมคาใจมากว่าถ้าเราไม่เลือกช่วยใครเลย จะตายทั้งสอง หรือรอดทั้งสองครับ
ขออนุญาตไม่เอ่ยถึงชื่อตัวละครนะครับ เดี๋ยวสปอลย์
View all 2 comments >
ถ้าจำไม่ผิดตรงนั้นไม่มีเวลามาบีบน่ะครับ มันบังคับว่าต้องเลือกใครซักคน เพราะงั้นถึงรอไปก็ไม่เกิดผลอะไร
เล่นไปจนถึงจุดที่เงิบกว่าแล้วครับ เรื่องราวกำลังจะคลี่คลาย ๕๕๕
Sam's yoga pants 10/10
เกมส์น่าเบื่อ ไม่น่ากลัว ไม่น่าตกใจ
รอหวดมือสอง
เพิ่งเล่น เลื่อยตัดตัวขาดไป 1 คนแล้ว แงๆๆๆ